บทความ
รู้ก่อน...สำคัญกว่า รู้ลึกเรื่องสุขภาพกับ SIRIRAJ H SOLUTIONS
Thu, 07 Dec 2023
หมูที่แข็งแรง มีจริงหรือ?
หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินหรือเคยมีการพูดเล่นในเชิงหยอกล้อกับเพื่อนๆ หรือคนรู้จักที่มีรูปร่างอ้วนว่า “อ้วนเป็นหมู” และก็คงมีคนอ้วนอีกหลายคนที่ตอบโต้กลับ ว่าถึงจะอ้วนเป็นหมูแต่ก็ “เป็นหมูที่แข็งแรงนะ” เนื่องจากว่าผู้คนเหล่านี้แม้จะมีน้ำหนักเกินจนเข้าเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าอ้วน แต่ก็ไม่มีอาการหรือความผิดปกติใดๆ ยิ่งไปกว่านั้น คนอ้วนบางคนไปเจาะตรวจเลือดหรือวัดความดันโลหิตมาก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ เรียกได้ว่า ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดสูงและไม่มีภาวะไขมันในเลือดที่สูงผิดปกติ จึงทำให้สามารถพูดออกมาอย่างภาคภูมิว่า พวกเค้าเป็น “หมูที่แข็งแรง” แล้วในการทางแพทย์ภาวะนี้มีอยู่จริงหรือไม่และมันคืออะไร ต้องทำการดูแลรักษาหรือไม่ วันนี้เราจะมาเรียนรู้และเข้าใจไปด้วยกันภาวะที่คนอ้วนได้รับการตรวจเลือดทางเมตาบอลิก เช่น ค่าน้ำตาล ค่าไขมันในเลือดและวัดความดันแล้วอยู่ในค่าปกติทั้งหมด หรือที่เรียกว่าคนอ้วนที่แข็งแรงนั้น ทางการแพทย์เรามีชื่อเรียกว่า Metabolically Healthy Obesity (MHO) ซึ่งภาวะพบว่านี้มีอยู่จริงในการศึกษาทางการแพทย์ เนื่องจากว่าการบอกว่าคนๆ หนึ่งอ้วนหรือไม่ เรามักดูจากค่าของดัชนีมวลกาย ซึ่งคำนวนมาจากการใช้น้ำหนักตัวในหน่วยของกิโลกรัมหารด้วยค่าของความสูงในหน่วยเป็นเมตรสองครั้ง โดยในคนเอเชียนั้นหากมีค่าของดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะเรียกว่าอ้วน แน่นอนว่าการคำนวนดัชนีมวลกายไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการประเมินภาวะอ้วนที่หมายถึงการที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกิน เพราะว่าน้ำหนักที่เพิ่มมานั้นอาจมาจากอะไรก็ได้ เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ หรือน้ำที่เกินเข้ามาในร่างกายขณะนั้น ทำให้ในกลุ่มคนที่เล่นกล้ามหรือออกกำลังกายมากๆ อาจจะคำนวณค่าดัชนีมวลกายแล้วตกในกลุ่มที่อ้วน แต่จริงๆ เป็นกล้ามเนื้อที่ใหญ่มากขึ้นซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีกับร่างของพวกเค้า ในกลุ่มคนที่เป็น MHO พบว่า พวกเค้าจะยังไม่มีภาวะผิดปกติใด ๆ ทางผลเลือดหรือระดับความดันโลหิตในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ดีพบว่าเมื่อเทียบกับคนที่รูปร่างปกติและผลเลือดดีด้วย คนในกลุ่ม MHO กลับจะพบความเสี่ยงสูงกว่ามากในการเกิดโรคต่างๆ ทางเมตาบอลิกในอนาคต ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจากการศึกษาพบว่า คนอ้วนที่มีภาวะปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดโรคต่าๆ ในที่สุดภายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะหากพวกเค้าไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวไว้ได้ และแน่นอนว่าในคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะชะล่าใจว่าตนเองมีผลเลือดดีจึงไม่ทันระแวดระวังตัวเอง ไม่ควบคุมน้ำหนัก ซึ่งจะเปลี่ยนกลายเป็นคนอ้วนที่เป็นโรคในที่สุด และแม้ว่าคนอ้วนกลุ่ม MHO จะไม่มีความผิดปกติในผลเลือดหรือความด้นโลหิต แต่จากการศึกษาพบว่าปัญหาจากน้ำหนักตัวที่มาก มีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่นข้อ ยังคงเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากคนอ้วนทั่วๆ ไปและยังพบปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับเช่นเดียวกันอีกด้วยดังนั้น จะพบว่าบทสรุปจากข้อมูลทางการแพทย์ ณ ขณะนี้ ยังคงต้องบอกว่าภาวะคนอ้วนที่ (ดูเหมือน) จะแข็งแรงนี้อาจมีอยู่จริง แต่เป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นคนอ้วนที่เป็นโรคมากมาย หากไม่มีการควบคุมน้ำหนักและไม่มีการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ท่านใดที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือตกในกลุ่มที่อ้วนแล้ว แม้จะยังมีผลเลือดดีน่าพอใจ แต่ก็ไม่อยากให้วางใจ หมออยากให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงอย่างแท้จริง ควรรับประทานอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะ “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” และ “อ้วนเกินไป แม้ผลเลือดจะดี แต่ไม่ลดสักที อาจชีวีสั้นลง” ด้วยความเป็นห่วงนะครับ

อ่านเพิ่มเติม

Wed, 01 Nov 2023
โรค NCDs คืออะไร ภัยใกลัตัวที่คุณก็อาจไม่รู้ว่าเป็น
โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases (NCDs) เป็นกลุ่มโรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างในประเทศไทย พบว่าประชากรส่วนมากเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรีย โรคกลุ่ม NCDs ประกอบด้วยโรคหลากหลาย ตัวอย่างของโรคในกลุ่ม NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและอ้วนลงพุง โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหรือปัญหาทางสุขภาพจิตบางประเภท รวมถึงโรคมะเร็ง จะเห็นว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคขนาดใหญ่ที่รวมโรคหลายๆ โรคเอาไว้ด้วยกัน โดยโรคเหล่านี้มีแกนกลางคือพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังกล่าว เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หวาน มัน เค็มที่มากเกินไป ความอ้วน การที่มีกิจกรรมทางกายที่น้อยเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ และความเครียด สิ่งที่น่ากลัวของโรคในกลุ่ม NCDs คือ เราอาจจะเป็นโรคนี้อยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้ เนื่องจากโรคนี้มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป เพิ่งทำให้มีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น คนที่เป็นเบาหวานหากระดับน้ำตาลยังไม่สูงมากจนเกินไปและเพิ่งจะเกิดความผิดปกติขึ้น อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยหรืออาจมีเพียงปัสสาวะบ่อยขึ้นเล็กน้อยหรือกระหายน้ำบ่อยขึ้นหน่อย ถ้าไม่ทันสังเกตตนเองหรือมาเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอาจไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองเป็นเบาหวานแล้ว หรือโรคความดันโลหิตสูง เราอาจจะพบคนที่วัดความดันโลหิตได้สูง เช่น 160/100 มม.ปรอท แต่ยังทำงานได้ปกติ เดินไปเดินมา โดยไม่มีอาการใดๆ แต่คนที่ไม่มีอาการใดๆ เหล่านี้อาจไม่รู้ตัวเลยว่าน้ำตาลที่สูงในเลือด ไขมันที่สูงในเลือด และความดันโลหิตที่สูงนั้นก่อการอักเสบและทำร้ายเส้นเลือดทั่วร่างกายของเค้าอยู่ จนเมื่อร่างกายเค้าทนต่อไปไม่ไหว ก็จะแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคออกมา เช่น อาการบวม ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลียจากการเกิดไตวายแทรกซ้อน เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยจากภาวะหัวใจขาดเลือด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยวจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก เป็นต้น ดังนั้นการที่มาตรวจคัดกรองแล้วพบโรค NCDs ได้ในระยะแรกๆ ของโรคเพื่อรีบทำการรักษาและควบคุมค่าต่างๆ ให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติที่จะไม่ทำร้ายร่างกายของเราจึงเป็นการดูแลที่ดีที่สุด ใครบ้างที่ควรเริ่มเข้ามาตรวจคัดกรองหาโรค NCDs และตัวเราเองเสี่ยงเป็นหรือไม่? คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนกำลังคิดอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่ามีปัจจัยเสี่ยงของโรคในกลุ่มนี้มากมาย เช่น อายุเกิน 30-35 ปีขึ้นไป, คนที่ญาติสายตรงคือพ่อแม่และพี่น้องเป็นโรคในกลุ่ม NCDs, คนที่อ้วน, คนที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่, คนที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็มเป็นประจำ, คนที่มีกิจกรรมทางกายน้อยหรือใช้เวลาส่วนมากของวันในการนั่งหรือนอน มีการขยับเคลื่อนไหวน้อย, คนที่มีความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ. คนที่มีโรค NCDs อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วก็ควรมาตรวจคัดกรองหาโรคอื่นๆ ในกลุ่มนี้เพิ่มเติมด้วย ใครเห็นว่าตนเองมีข้อความเสี่ยงเหล่านี้ หมอเห็นควรว่าควรเดินตบเท้าเข้าไปยังสู่ศูนย์สุขภาพต่างๆ เพื่อขอรับการตรวจที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป อย่าลืมนะครับว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ต่อให้มีเงินทองมากมายแค่ไหน ถ้าสุขภาพไม่ดี ชีวีก็ยังจะเป็นทุกข์ต่อไป และอยากให้ทุกท่านจำไว้เสมอว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” และ “ตรวจก่อน เจอตอนต้น ผลรักษาดี” อย่าลืมไปตรวจ ไปเช็คสุขภาพกันบ้างนะครับ โรคเหล่านี้อาจแอบอยู่อย่างเงียบ ๆ เป็นยาพิษ เป็นฆาตกรในเงามืดในตัวเราและคนที่เรารักแล้วก็ได้

อ่านเพิ่มเติม

« ก่อนหน้า
Copyright © 2023 SIRIRAJ H SOLUTIONS