โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ non-communicable diseases (NCDs) เป็นกลุ่มโรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพและเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญทั่วโลก โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศที่กำลังพัฒนาอย่างในประเทศไทย พบว่าประชากรส่วนมากเสียชีวิตจากโรคในกลุ่มนี้มากกว่ากลุ่มโรคติดเชื้อ เช่น โรคเอดส์ วัณโรค และโรคมาลาเรีย โรคกลุ่ม NCDs ประกอบด้วยโรคหลากหลาย ตัวอย่างของโรคในกลุ่ม NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง โรคอ้วนและอ้วนลงพุง โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหรือปัญหาทางสุขภาพจิตบางประเภท รวมถึงโรคมะเร็ง จะเห็นว่าโรค NCDs เป็นกลุ่มโรคขนาดใหญ่ที่รวมโรคหลายๆ โรคเอาไว้ด้วยกัน โดยโรคเหล่านี้มีแกนกลางคือพฤติกรรมสุขภาพที่ไม่เหมาะสมหรือไม่ถูกต้องเป็นตัวหลักที่ทำให้เกิดโรคต่างๆ ดังกล่าว เช่น การดื่มสุรา การสูบบุหรี่ การรับประทานอาหารที่ไม่เหมาะสม หวาน มัน เค็มที่มากเกินไป ความอ้วน การที่มีกิจกรรมทางกายที่น้อยเกินไป การพักผ่อนไม่เพียงพอ และความเครียด
สิ่งที่น่ากลัวของโรคในกลุ่ม NCDs คือ เราอาจจะเป็นโรคนี้อยู่โดยไม่รู้ตัวก็ได้ เนื่องจากโรคนี้มีการดำเนินโรคแบบค่อยเป็นค่อยไป เพิ่งทำให้มีอาการแสดงที่ไม่ชัดเจนนัก เช่น คนที่เป็นเบาหวานหากระดับน้ำตาลยังไม่สูงมากจนเกินไปและเพิ่งจะเกิดความผิดปกติขึ้น อาจจะไม่มีอาการอะไรเลยหรืออาจมีเพียงปัสสาวะบ่อยขึ้นเล็กน้อยหรือกระหายน้ำบ่อยขึ้นหน่อย ถ้าไม่ทันสังเกตตนเองหรือมาเจาะตรวจระดับน้ำตาลในเลือดอาจไม่รู้ตัวเลยว่าตนเองเป็นเบาหวานแล้ว หรือโรคความดันโลหิตสูง เราอาจจะพบคนที่วัดความดันโลหิตได้สูง เช่น 160/100 มม.ปรอท แต่ยังทำงานได้ปกติ เดินไปเดินมา โดยไม่มีอาการใดๆ แต่คนที่ไม่มีอาการใดๆ เหล่านี้อาจไม่รู้ตัวเลยว่าน้ำตาลที่สูงในเลือด ไขมันที่สูงในเลือด และความดันโลหิตที่สูงนั้นก่อการอักเสบและทำร้ายเส้นเลือดทั่วร่างกายของเค้าอยู่ จนเมื่อร่างกายเค้าทนต่อไปไม่ไหว ก็จะแสดงอาการของภาวะแทรกซ้อนจากตัวโรคออกมา เช่น อาการบวม ปัสสาวะออกน้อย อ่อนเพลียจากการเกิดไตวายแทรกซ้อน เจ็บหน้าอก หอบเหนื่อยจากภาวะหัวใจขาดเลือด แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก ปากเบี้ยวจากภาวะแทรกซ้อนของโรคเส้นเลือดสมองตีบหรือแตก เป็นต้น ดังนั้นการที่มาตรวจคัดกรองแล้วพบโรค NCDs ได้ในระยะแรกๆ ของโรคเพื่อรีบทำการรักษาและควบคุมค่าต่างๆ ให้ลงมาอยู่ในเกณฑ์ปกติที่จะไม่ทำร้ายร่างกายของเราจึงเป็นการดูแลที่ดีที่สุด
ใครบ้างที่ควรเริ่มเข้ามาตรวจคัดกรองหาโรค NCDs และตัวเราเองเสี่ยงเป็นหรือไม่? คงเป็นคำถามที่หลายๆ คนกำลังคิดอยู่ในขณะนี้ แน่นอนว่ามีปัจจัยเสี่ยงของโรคในกลุ่มนี้มากมาย เช่น อายุเกิน 30-35 ปีขึ้นไป, คนที่ญาติสายตรงคือพ่อแม่และพี่น้องเป็นโรคในกลุ่ม NCDs, คนที่อ้วน, คนที่ดื่มสุราหรือสูบบุหรี่, คนที่มีพฤติกรรมการรับประทานอาหารหวาน มัน เค็มเป็นประจำ, คนที่มีกิจกรรมทางกายน้อยหรือใช้เวลาส่วนมากของวันในการนั่งหรือนอน มีการขยับเคลื่อนไหวน้อย, คนที่มีความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ. คนที่มีโรค NCDs อย่างใดอย่างหนึ่งอยู่แล้วก็ควรมาตรวจคัดกรองหาโรคอื่นๆ ในกลุ่มนี้เพิ่มเติมด้วย ใครเห็นว่าตนเองมีข้อความเสี่ยงเหล่านี้ หมอเห็นควรว่าควรเดินตบเท้าเข้าไปยังสู่ศูนย์สุขภาพต่างๆ เพื่อขอรับการตรวจที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป อย่าลืมนะครับว่าสุขภาพเป็นสิ่งสำคัญ ต่อให้มีเงินทองมากมายแค่ไหน ถ้าสุขภาพไม่ดี ชีวีก็ยังจะเป็นทุกข์ต่อไป และอยากให้ทุกท่านจำไว้เสมอว่า “สุขภาพดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องสร้างเอง” และ “ตรวจก่อน เจอตอนต้น ผลรักษาดี” อย่าลืมไปตรวจ ไปเช็คสุขภาพกันบ้างนะครับ โรคเหล่านี้อาจแอบอยู่อย่างเงียบ ๆ เป็นยาพิษ เป็นฆาตกรในเงามืดในตัวเราและคนที่เรารักแล้วก็ได้
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล