หลาย ๆ คนคงเคยได้ยินหรือเคยมีการพูดเล่นในเชิงหยอกล้อกับเพื่อนๆ หรือคนรู้จักที่มีรูปร่างอ้วนว่า “อ้วนเป็นหมู” และก็คงมีคนอ้วนอีกหลายคนที่ตอบโต้กลับ ว่าถึงจะอ้วนเป็นหมูแต่ก็ “เป็นหมูที่แข็งแรงนะ” เนื่องจากว่าผู้คนเหล่านี้แม้จะมีน้ำหนักเกินจนเข้าเกณฑ์ที่เรียกได้ว่าอ้วน แต่ก็ไม่มีอาการหรือความผิดปกติใดๆ ยิ่งไปกว่านั้น คนอ้วนบางคนไปเจาะตรวจเลือดหรือวัดความดันโลหิตมาก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ปกติ เรียกได้ว่า ไม่เป็นโรคความดันโลหิตสูง ไม่มีปัญหาเรื่องน้ำตาลในเลือดสูงและไม่มีภาวะไขมันในเลือดที่สูงผิดปกติ จึงทำให้สามารถพูดออกมาอย่างภาคภูมิว่า พวกเค้าเป็น “หมูที่แข็งแรง” แล้วในการทางแพทย์ภาวะนี้มีอยู่จริงหรือไม่และมันคืออะไร ต้องทำการดูแลรักษาหรือไม่ วันนี้เราจะมาเรียนรู้และเข้าใจไปด้วยกัน
ภาวะที่คนอ้วนได้รับการตรวจเลือดทางเมตาบอลิก เช่น ค่าน้ำตาล ค่าไขมันในเลือดและวัดความดันแล้วอยู่ในค่าปกติทั้งหมด หรือที่เรียกว่าคนอ้วนที่แข็งแรงนั้น ทางการแพทย์เรามีชื่อเรียกว่า Metabolically Healthy Obesity (MHO) ซึ่งภาวะพบว่านี้มีอยู่จริงในการศึกษาทางการแพทย์ เนื่องจากว่าการบอกว่าคนๆ หนึ่งอ้วนหรือไม่ เรามักดูจากค่าของดัชนีมวลกาย ซึ่งคำนวนมาจากการใช้น้ำหนักตัวในหน่วยของกิโลกรัมหารด้วยค่าของความสูงในหน่วยเป็นเมตรสองครั้ง โดยในคนเอเชียนั้นหากมีค่าของดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 กิโลกรัมต่อตารางเมตร จะเรียกว่าอ้วน แน่นอนว่าการคำนวนดัชนีมวลกายไม่ใช่สิ่งที่ดีที่สุดในการประเมินภาวะอ้วนที่หมายถึงการที่มีไขมันสะสมในร่างกายมากเกิน เพราะว่าน้ำหนักที่เพิ่มมานั้นอาจมาจากอะไรก็ได้ เช่น ไขมัน กล้ามเนื้อ หรือน้ำที่เกินเข้ามาในร่างกายขณะนั้น ทำให้ในกลุ่มคนที่เล่นกล้ามหรือออกกำลังกายมากๆ อาจจะคำนวณค่าดัชนีมวลกายแล้วตกในกลุ่มที่อ้วน แต่จริงๆ เป็นกล้ามเนื้อที่ใหญ่มากขึ้นซึ่งแน่นอนว่าเป็นผลดีกับร่างของพวกเค้า ในกลุ่มคนที่เป็น MHO พบว่า พวกเค้าจะยังไม่มีภาวะผิดปกติใด ๆ ทางผลเลือดหรือระดับความดันโลหิตในขณะนั้น แต่อย่างไรก็ดีพบว่าเมื่อเทียบกับคนที่รูปร่างปกติและผลเลือดดีด้วย คนในกลุ่ม MHO กลับจะพบความเสี่ยงสูงกว่ามากในการเกิดโรคต่างๆ ทางเมตาบอลิกในอนาคต ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคไขมันในเลือดสูง และโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยจากการศึกษาพบว่า คนอ้วนที่มีภาวะปกติจะมีการเปลี่ยนแปลงและเกิดโรคต่าๆ ในที่สุดภายในเวลาไม่นาน โดยเฉพาะหากพวกเค้าไม่สามารถควบคุมน้ำหนักตัวไว้ได้ และแน่นอนว่าในคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มจะชะล่าใจว่าตนเองมีผลเลือดดีจึงไม่ทันระแวดระวังตัวเอง ไม่ควบคุมน้ำหนัก ซึ่งจะเปลี่ยนกลายเป็นคนอ้วนที่เป็นโรคในที่สุด และแม้ว่าคนอ้วนกลุ่ม MHO จะไม่มีความผิดปกติในผลเลือดหรือความด้นโลหิต แต่จากการศึกษาพบว่าปัญหาจากน้ำหนักตัวที่มาก มีผลต่ออวัยวะต่างๆ เช่นข้อ ยังคงเกิดขึ้นได้ไม่ต่างจากคนอ้วนทั่วๆ ไปและยังพบปัญหาการอุดกั้นทางเดินหายใจขณะนอนหลับเช่นเดียวกันอีกด้วย
ดังนั้น จะพบว่าบทสรุปจากข้อมูลทางการแพทย์ ณ ขณะนี้ ยังคงต้องบอกว่าภาวะคนอ้วนที่ (ดูเหมือน) จะแข็งแรงนี้อาจมีอยู่จริง แต่เป็นเพียงแค่ช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะเปลี่ยนตัวเองไปเป็นคนอ้วนที่เป็นโรคมากมาย หากไม่มีการควบคุมน้ำหนักและไม่มีการปรับพฤติกรรมสุขภาพที่ดี ท่านใดที่มีน้ำหนักตัวเกินหรือตกในกลุ่มที่อ้วนแล้ว แม้จะยังมีผลเลือดดีน่าพอใจ แต่ก็ไม่อยากให้วางใจ หมออยากให้ทุกท่านมีสุขภาพแข็งแรงอย่างแท้จริง ควรรับประทานอาหารให้เหมาะสม ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ที่ดี และหมั่นตรวจเช็คสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง เพราะ “สุขภาพดีไม่มีขาย อยากได้ต้องสร้างเอง” และ “อ้วนเกินไป แม้ผลเลือดจะดี แต่ไม่ลดสักที อาจชีวีสั้นลง” ด้วยความเป็นห่วงนะครับ
ผู้เขียน : ผศ.นพ.ชัยวัฒน์ วชิรศักดิ์ศิริ
ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล