พฤติกรรมความรุนแรง

บทความ

พฤติกรรมความรุนแรง

พฤติกรรมความรุนแรง สามารถเกิดขึ้นได้กับบุคคลปกติทั่วไปและบุคคลที่มีปัญหาสุขภาพจิต ทั้งในเชิงคำพูดและการกระทำ เพราะพฤติกรรมความรุนแรงเป็นสัญชาตญาณการเอาตัวรอดของมนุษย์ อยู่ที่ว่าจะสามารถควบคุมอารมณ์และพฤติกรรมของตนได้มากน้อยเพียงใด

ในหลายครั้งเราจะเห็นว่าผู้ก่อเหตุการณ์ความรุนแรงมักมีลักษณะบุคลิกภาพชอบเก็บตัว มองโลกในแง่ลบ มีความรู้สึกกดดัน โทษคนอื่น มีพฤติกรรมก้าวร้าว หุนหันพลันแล่น ควบคุมตนเองได้ยาก และหมกมุ่นกับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เช่น การเล่นเกมเกี่ยวกับความรุนแรง แต่ไม่ได้หมายความว่าคนที่เล่นเกมทุกคนจะมีพฤติกรรมก้าวร้าว หรือสามารถทำร้ายผู้อื่นในโลกความเป็นจริงได้ เป็นที่ชัดเจนว่าในหลายครอบครัวที่เด็กชอบเล่นเกม ไม่ได้มีพฤติกรรมรุนแรงตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ดังนั้นการที่มนุษย์จะแสดงออกพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงเพราะมีบางสิ่งมากระตุ้นเท่านั้นแต่ต้องเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่เด็ก จำเป็นต้องมีมูลเหตุจูงใจและสถานการณ์ประจวบเหมาะ เช่น มีความเครียด ขาดความยับยั้งชั่งใจ สามารถเข้าถึงและจัดเตรียมอาวุธได้อย่างง่ายดายในปัจจุบัน นั้นหมายความว่าต้องมีปัจจัยอื่นเป็นองค์ประกอบสำคัญที่กระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมนั้นขึ้น เช่น

ปัจจัยภายใน : โรคทางพันธุกรรม โรคทางจิตเวช การใช้สารเสพติด การขาดยา ลักษณะนิสัย การควบคุมตนเอง รูปแบบความคิดและการเผชิญปัญหา การถูกกลั่นแกล้ง ประสบการณ์การถูกทำร้ายทั้งทางร่างกายและจิตใจ

ปัจจัยภายนอก : การเลี้ยงดูและความสัมพันธ์ในครอบครัว โรงเรียน กลุ่มเพื่อน สังคมที่อยู่อาศัย

ดังนั้นการห้ามเล่นเกมส์ หรือ ห้ามดูภาพยนต์ที่สื่อถึงความโหดร้าย รุนแรง อาจไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ แต่การแก้ปัญหาที่เหมาะสมในการหยุดหรือป้องกันพฤติกรรมรุนแรง อาจเริ่มต้นที่การสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวเพื่อให้เกิดความไว้วางใจ เกิดการยอมรับตัวตน เข้าใจกฎเกณฑ์ทางสังคม สามารถแยกแยะได้ว่าสิ่งใดที่เหมาะสม ก่อให้เกิดความสามารถในการยับยั้งชั่งใจและควบคุมตนเอง สิ่งเหล่านี้ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างเกราะป้องกันทางจิตใจเพื่อลดโอกาสการเกิดปัญหาพฤติกรรมในอนาคต

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สังคมมักกังวลว่าอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ ก็อาจจะใช่ในส่วนหนึ่ง แต่ไม่เสมอไป เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนห้องเรียนให้กับบุคคลที่มีพฤติกรรมความรุนแรงอยู่แล้ว มีแนวทางและวิธีการในการแสดงออกถึงความรุนแรงนั้นมากขึ้น เพราะเมื่อแสดงพฤติกรรมเหล่านี้ มักได้รับรางวัลเป็นความสนใจจากสื่อและประชาชน การป้องกันที่ดีที่สุดนอกจากการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีให้เกิดขึ้นภายในครอบครัวแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำอาจจำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการเข้ามามีบทบาทในการจำกัดการเข้าถึงอาวุธ  รวมถึงสื่อ และประชาชน เข้ามามีส่วนร่วมโดยการไม่ให้พื้นที่กับตัวผู้กระทำความผิด ไม่เปิดเผยชื่อหรือสิ่งที่เกี่ยวข้องกับตัวผู้กระทำผิดลงในสังคมออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดพฤติกรรมที่คล้ายคลึงกันในอนาคต

สุดท้ายนี้สำหรับบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์และการติดตามข่าวสาร ควรเลือกติดตามข่าวจากแหล่งข่าวที่น่าเชื่อถือ ไม่ควรใช้เวลาในการเสพข่าวนานเกินไป ควรหาเวลาพัก และพูดคุยกับบุคคลที่ไว้วางใจ นอกจากนี้อยากให้ทุกคนหันกลับมาสำรวจตนเองว่า เริ่มมีความรู้สึกไม่สบายใจ เครียด กดดัน หวาดกลัว มีความคิดเชิงลบ รู้สึกควบคุมตนเองได้ยากกว่าปกติ  คิดกังวลถึงภาพเหตุการณ์ซ้ำๆ และไม่สามารถจัดการกับความคิดและความรู้สึกด้านลบที่เกิดขึ้นกับตนเองได้ สามารถขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ เช่น จิตแพทย์และนักจิตวิทยาคลินิก เพื่อพูดคุย ปรึกษา และหาทางแก้ไขร่วมกัน

 


ผู้เขียน :

นางสาวฟะรีดะฮ์ นิลพานิช , นางสาวนัยพร เข็มทอง

อ้างอิงข้อมูลจาก

บทความล่าสุด
Copyright © 2023 SIRIRAJ H SOLUTIONS